ภัยเงียบจากการนอนกรน

อากาศที่หนาวเย็นในช่วงนี้ อาจทำให้หลายคนรู้สึกอยากนอนทั้งวัน แต่การนอนสำหรับใครบางคนอาจส่งเสียงรบกวนคนข้าง ๆ การนอนกรน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับคนข้าง ๆ แล้ว ที่น่าห่วงก็คืออาการหยุดหายใจในขณะหลับนั่นเอง
คุณหมอจากโรงพยาบาลพระราม 9 กล่าวว่า หลัก ๆ แล้วการนอนกรน มี 2 แบบ คือ การนอนกรนธรรมดา ซึ่งทำให้เกิดเสียงรบกวนต่อคนรอบข้างเท่านั้น กับ การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ถือว่าอันตรายและพบมากในวัยกลางคนอายุระหว่าง 30-60 ปี โดยพบในผู้ชายประมาณร้อยละ 4 และผู้หญิงร้อยละ 2 สัดส่วนของเด็กๆจะพบประมาณร้อยละ 1-2 ซึ่งสาเหตุที่พบในเด็กนั้นมักเกิดจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต และในกรณีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ ความผิดปกติทางโครงสร้างกะโหลกศรีษะและใบหน้า โรคอ้วนและพันธุกรรม
วิธีการสังเกตุว่าแบบไหนคือการนอนกรนธรรมดา และการนอนกรนแบบหยุดหายใจร่วมด้วย คุณหมอมีคำแนะนำแบบนี้ว่า หากเป็นการนอนกรนธรรมดาเสียงกรนจะสม่ำเสมอ นอนหลับได้ปกติ และหลังตื่นนอนจะรู้สึกสดชื่นเหมือนปกติ แต่หากเป็นการนอนกรนที่มีอันตรายนั้น เสียงกรนจะขาดหายเป็นช่วง มีลักษณะหยุดหายใจที่เกิน 5 ครั้งใน 1 ชั่วโมง มีอาการนอนหลับไม่สนิท หลังตื่นนอนจะรู้สึกไม่สดใสสดชื่น มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน ทั้งนี้ในเด็กอาจพบว่ามีการปัสสาวะรดที่นอนร่วมด้วย
สาเหตุที่ทำให้การนอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจไปด้วย คุณหมออธิบายว่าในช่วงที่มีภาวะหยุดหายใจระดับออกซิเจนในเลือดแดง อาจจะต่ำกว่าปกติ ทำให้หัวใจ ปอด และสมองทำงานหนักมากขึ้น และอาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะตีบตันของหลอดเลือดในสมอง และความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดในปอด สำหรับเด็กอาจส่งผลต่อพัฒนาการที่ไม่ดี จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปด้วย
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเพื่อห่างไกลจากการนอนกรนที่เป็นอันตราย ก็คือ การดูแลตัวเองไม่ให้อ้วน ซึ่งค่า BMI ต้องไม่เกิน 23 ด้วยการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยานอนหลับหรือยาที่กดประสาทส่วนกลาง และหากพบว่ามีลักษณะการนอนกรนเข้าข่ายเป็นอันตรายก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษาและรักษาได้อย่างทันท่วงที
อ้างอิง ข่าวที่มา ข่าวจากsanook
อ่านข่าวทั้งหมด